สาระสำคัญ
|
| | |
สิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัวมนุษย์มีทั้งสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น สิ่งแวดล้อมเหล่านี้มีความสำคัญและคุณประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์เป็นอย่างมาก เมื่อใดที่สิ่งแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไปย่อมส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของมนุษย์ และการดำรงชีวิตของพืชและสัตว์
|
สี่งแวดล้อม คือ สิ่งต่างๆ ี่อยู่รอบตัวมนุษย์ ซึ่งมีทั้งมีชีวิตและไม่มีชีวิต ทั้งที่เป็นรูปธรรม (จับต้องและมองเห็นได้) และนามธรรม (จับต้องไม่ได้และมองไม่เห็น)ทั้งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติและที่มนุษย์สร้างขึ้น
ทรัพยากรธรรมชาติ หมายถึงสิ่งที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ซึ่งมนุษย์สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการ
ดำรงชีวิตได้ ทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ ได้แก่ ดิน น้ำ ป่าไม้ สัตว์ป่า อากาศ แร่ธาตุ และพลังงาน
สมบัติเฉพาะตัวของสิ่งแวดล้อม
สมบัติ หมายถึง สิ่งที่มีอยู่ในตัว ซึ่งมีศักย์ในการแสดงออกในสิ่งนั้นๆ การฝืนศักย์ของสิ่งแวดล้อมนั้นๆ ย่อมก่อให้เกิดปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมอื่นๆ เสมอไม่มากก็น้อย ดังนั้นการที่จะทำให้สิ่งแวดล้อมยั่งยืน (Sustainable environment) จำเป็นต้องเข้าใจถึงสมบัติของสิ่งแวดล้อมนั้นเสมอ ซึ่งมี 7 ประการ ดังนี้
1. มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว สิ่งแวดล้อมแต่ละประเภทจะมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในการที่จะแสดงว่ามันคืออะไร เช่น ป่าไม้ ดิน น้ำ สัตว์ เป็นต้น การเปลี่ยนเอกลักษณ์จะไม่เกิดขึ้นในมหภาค (macroscale) แต่อาจเปลี่ยนในจุลภาค (microscale)
2. ไม่อยู่โดดเดี่ยว สิ่งแวดล้อมจะต้องมีสิ่งแวดล้อมอื่นด้วยเสมอ เช่น ปลากับน้ำ ต้นไม้กับดิน เป็นต้น
3. มีความต้องการสิ่งแวดล้อมอื่นเสมอ สิ่งแวดล้อมแต่ละประเภทจะมีความต้องการสิ่งแวดล้อมอื่นเสมอเพื่อ
ความอยู่รอดและรักษาสถานภาพตนเอง เช่น ปลาต้องการน้ำ มนุษย์ต้องการที่อยู่อาศัย เป็นต้น
4. อยู่รวมกันเป็นกลุ่ม/ระบบนิเวศ ซึ่งภายในระบบจะมีองค์ประกอบและหน้าที่เฉพาะของมันเอง
5. มีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันเป็นลูกโซ่ ดังนั้นเมื่อทำลายสิ่งแวดล้อมหนึ่งก็จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอื่นๆ เป็นลูกโซ่เสมอ เช่น การทำลายป่าไม้ ก่อให้เกิดการชะล้างพังทลายของดิน เกิดอุทกภัย เป็นต้น
6. สิ่งแวดล้อมแต่ละประเภทจะมีลักษณะความทนทานและความเปราะบางต่อการถูกกระทบแตกต่างกัน
7. สิ่งแวดล้อมมีการเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา อาจเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบถาวรหรือชั่วคราวก็ได้
จากสมบัติของสิ่งแวดล้อมทั้ง 7 ข้อ นี้ทำให้ทราบดีว่าถ้าหากมีการทำลายหรือใช้ประโยชน์จากสิ่งแวดล้อมมากเกินไป ก็จะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมนั้นๆ ตามมาเสมอหรือที่เรียกว่ามลพิษสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีมากมายหลายชนิด ไม่ว่าจะเป็นมลพิษทางน้ำ มลพิษทางอากาศ มลพิษทางดิน มลพิษทางเสียง มลพิษจากขยะและของเสีย เป็นต้น
ประเภทของสิ่งแวดล้อม
จากความหมายของสิ่งแวดล้อมดังกล่าวสามารถแบ่งสิ่งแวดล้อมได้เป็น 2 ประเภท คือ สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ (Natural environment) และสิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น (Man-Mode Environment)
1. สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ ( Natural Environment)
แบ่งออกเป็น 2 ประเภทย่อย คือ สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ (หรือสิ่งแวดล้อมที่ไม่มีชีวิต) และสิ่งแวดล้อมที่มีชีวิต
1. 1สิ่งแวดล้อมทางกายภาพ (Physical Environment) หรือสิ่งแวดล้อมที่ไม่มีชีวิต (Abiotic Environment) แบ่งได้ดังนี้
- บรรยากาศ (Atmosphere) หมายถึงอากาศที่ห่อหุ้มโลก ประกอบด้วย กา๙ชนิดต่างๆ เช่น โอโซน ไนโตรเจน ออกซิเจน อาร์กอน คาร์บอนไดออกไซด์ ฝุ่นละออง และไอน้ำ
- อุทกภาค (Hydrosphere) หมายถึงส่วนที่เป็นน้ำทั้งหมดของพื้นผิวโลก ได้แก่ มหาสมุทร ทะเล แม่น้ำ ฯลฯ
- ธรณีภาค หรือ เปลือกโลก(Lithosphere) หมายถึง ส่วนของโลกที่เป็นของแข็งห่อหุ้มอยู่รอบนอกสุด ของโลกประกอบด้วยหินและดิน
1.2 สิ่งแวดล้อมที่มีชีวิต (Biotic Environment)ได้แก่ พืช สัตว์ และมนุษย์
2 . สิ่งแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น(Man-Mode Environment)
แบ่งได้ 2 ประเภทดังนี้
- สิ่งแวดล้อมที่เป็นรูปธรรม (Concrete Environment) ได้แก่ บ้านเรือน ถนน สนามบิน เขื่อน โรงงาน วัด
- สิ่งแวดล้อมที่เป็นนามธรรม (Abstract Environment) ได้แก่ ขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม ศาสนา กฎหมายระบบเศรษฐกิจ การเมือง การปกครอง เป็นต้น
มิติของสิ่งแวดล้อม
องค์ประกอบพื้นฐานทางของมิติสิ่งแวดล้อมแบ่งได้เป็น 4 มิติ ดังนี้
1) มิติทรัพยากร
ทรัพยากร แบ่งได้ 2 ประเภท ดังนี้
ก. ทรัพยากรธรรมชาติ หมายถึง สิ่งที่เกิดขึ้นเอง หรือมีอยู่เองตามธรรมชาติ และให้ประโยชน์ต่อมนุษย์ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ไดแก่ ป่าไม้ น้ำ ดิน ทุ่งหญ้า แบ่งเป็น3 กลุ่ม คือ
- ทรัพยากรที่ใช้ไม่หมด เช่น น้ำ อากาศ
- ทรัพยากรที่ทดแทนได้ เป็นทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป แต่สามารถทดแทนได้โดยต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว เช่น น้ำใช้ ดิน ป่าไม้
- ทรัพยากรที่ใช้แล้วหมดไป เป็นทรัพยากรที่เมื่อมีการใช้แล้วหมดไปไม่สามารถทดแทนได้ เช่น น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ถ่านหิน แร่
ข. ทรัพยากรที่มนุษย์สร้างขึ้น สามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ
- ทรัพยากรที่มีคุณค่าต่อการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ เป็นทรัพยากรชีวภาพที่มนุษย์สร้างขึ้น ได้แก่ การเกษตรกรรม อุตสาหกรรม การคมนาคมขนส่ง การสื่อสาร ประปา การใช้ที่ดิน
- ทรัพยากรคุณภาพชีวิต หรือทรัพยากรสังคม เป็นทรัพยากรที่ทำให้คุณภาพชีวิตของมนุษย์ดีขึ้น ได้แก่ การสาธารณสุข การศึกษา เศรษฐกิจ ศาสนา/ศาสนาสถาน นันทนาการ ฯลฯ
2) มิติเทคโนโลยี
เทคโนโลยี หมายถึง การนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ มาใช้สร้างเครื่องมือ หรืออุปกรณ์ในการแปรรูป ป้องกัน หรือปรับปรุงทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด เทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม เป็นการมุ่งเน้นการให้ความรู้และการสร้างเทคโนโลยีในการนำไปสู่การใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีการบำบัด/กำจัดของเสียและมลพิษสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีการนำกลับมาใช้ใหม่
เทคโนโลยีมี 3 รูปแบบคือ
1. เครื่องจักรกล เป็นเครื่องมือและอุปกรณ์ที่สร้างพลังงานและให้งานเกิดขึ้น ได้แก่
- เครื่องจักรกลธรรมชาติ เช่น การบำบัดน้ำเสียด้วยพืชน้ำ พืชริมตลิ่งช่วยลดการพังทลายของดิน
- เครื่องจักรกลชาวบ้าน เช่น ครก รถไถนา การผันน้ำ
- เครื่องยนต์ เช่น เทคโนโลยีการคมนาคม การถลุงแร่
- เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เช่น อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์
2. แบบผลิตภัณฑ์ เป็นเทคโนโลยีที่สามารถใช้ในการปรับปรุงและพัฒนาสภาพเศรษฐกิจ สังคม สามารถซื้อขายได้ แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่
- แบบหล่อ เช่น หลอดไฟ แบบขนมปัง
- แบบทาบ เช่น รูปแบบเสื้อผ้า
- แบบพิมพ์ เช่น แบบพิมพ์หนังสือ แบบพิมพ์ภาพ
- แบบโครงสร้างเหมือน เช่น แบบบ้าน แบบสินค้า
3) มิติของเสียและมลพิษ
ของเสีย หมายถึง ขยะมูลฝอย สิ่งปฏิกูล น้ำเสีย อากาศเสีย มลสาร หรือวัตถุอันตรายอื่นใด ซึ่งปล่อยทิ้งหรือมีที่มาจากแหล่งกำเนิดมลพิษ รวมทั้งการตกตะกอน หรือสิ่งตกค้างจากสิ่งเหล่านั้น ที่อยู่ในรูปของแข็ง ของเหลว หรือก๊าซ
มลพิษสิ่งแวดล้อม หมายถึง สภาวะแวดล้อมที่มีมลสาร ที่เป็นพิษจนมีผลต่อสุขภาพของสิ่งมีชีวิตทั้งมนุษย์และสัตว์
ของเสียและมลพิษ สามารถแบ่งได้ ดังนี้คือ
1. ของเสียและมลพิษที่เป็นของแข็ง เกิดจากเศษเหลือใช้ หรือกากของเสีย เช่น ขยะมูลฝอย กากสารพิษ
2. ของเสียและมลพิษที่เป็นของเหลว เป็นสารพิษที่อยู่ในสถานะของเหลว เช่น น้ำมัน จะเคลือบผิวน้ำทำให้พืชน้ำไม่สามารถสังเคราะห์แสงได้
3. ของเสียและมลพิษที่เป็นก๊าซ มีผลกระทบรุนแรงต่อสิ่งมีชีวิต เช่น ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ไฮโดรคาร์บอน ไอระเหย
4. ของเสียและมลพิษที่มีสมบัติทางฟิสิกส์ ส่วนใหญ่จะสัมผัสได้โดยตรง เช่น เสียง รบกวน กัมมันตรังสี UV
5. มลพิษทางสังคม เป็นมลพิษที่ก่อให้เกิดปัญหาที่รุนแรง โดยเฉพาะในเมืองขนาดใหญ่ เช่น ปัญหาการเพิ่มประชากร ปัญหาอาชญากรรม ปัญหายาเสพติด
4) มิติมนุษย์
มิติมนุษย์เป็นมิติที่มีความสำคัญมากในการที่จะก่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรซึ่งก่อให้เกิดของเสียและมลพิษสิ่งแวดล้อมตามมา มิติมนุษย์ประกอบด้วยส่วนต่างๆ ดังนี้
1. ประชากร การเปลี่ยนแปลงประชากรส่งผลต่อการใช้ทรัพยากร
2. การศึกษา จะแสดงถึงคุณภาพประชากรในการที่จะช่วยกันอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม
3. การอนามัย/สาธารณสุข มนุษย์ถ้ามีสุขภาพอนามัยดี ก็จะมีศักยภาพในการที่จะทำหน้าที่ในสังคม จึงเป็นตัวควบคุมทรัพยากรทั้งทางตรงและทางอ้อม
4. เศรษฐกิจ ชีวิตความเป็นอยู่ อาชีพ เงินออม แผนการพัฒนาเศรษฐกิจ เป็นปัจจัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อม
(ดูข้อมูลโปรด คลิกที่นี่)